วันเสาร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ร่วมด้วยช่วยกัน...โครงการ Adsense เพื่อบ้านเด็กชัยพฤกษ์ 2/2

ดร.เคลียวพันธ์...ป้าหมอของเด็กๆ

U1.jpgถ้าเราไม่พร้อมที่จะให้ เราก็คงทำตรงนี้ไม่ได้ เราต้องอุทิศตัว อุทิศเวลา อุทิศความสุขส่วนตัวทั้งหมดเพื่อเด็กค่ะ” ปัญหาเด็กถูกทอดทิ้งได้ กลายเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมไทยไปเสียแล้ว แต่จะมีสักกี่คนที่หยิบยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลืออุปการะเด็กผู้น่า สงสารกลุ่มนี้ นับเป็นโชคดีที่มีผู้หญิงใจดีคนนึงแตกต่างจากคนทั่วไป ที่ไม่ใช่ให้แค่ความสงสาร แต่ต้องการพลิกชีวิตเด็กกลุ่มนี้ให้มีคุณค่าทัดเทียมใครๆ ในสังคม พญ.ดร.เคลียวพันธุ์ สูรพันธุ์ หรือที่เด็กๆ มักเรียกกันว่าป้าหมอ เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สาขาสูตินรีเวช โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ป้าหมอเป็นลูกครึ่งไทย_DSC0388.jpg-เยอรมัน ที่ใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศเยอรมันนานกว่า 20 ปี เมื่อลุงหมอ สามีชาวไทยเกษียณอายุ ต้องการกลับมาใช้ชีวิตช่วงบั้นปลายที่เมืองไทย และเมื่อกลับมาทั้งคู่พบว่ามีปัญหาเด็กถูกทอดทิ้งจำนวนมาก คิดอยากจะช่วยเหลือ จึงจัดตั้ง “มูลนิธิชัยพฤกษ์” ขึ้น โดยรับอุปการะเลี้ยงดูเด็กด้อยโอกาสทั้งหลาย ซึ่งในครั้งนี้เราได้เดินทางไปยังอำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก เพื่อไปพูดคุยกับป้าหมอ...แม่พระของเด็กๆ กันค่ะ
 

ที่มาของ “บ้านเด็กชัยพฤกษ์”
 
“ด้วยเพราะความสงสารค่ะ คือเราสองคนอยู่เยอรมันด้วยกันมา 20 กว่าปี พอกลับมาเมืองไทยได้อ่านหนังสือพิมพ์เห็นเด็กโดนทิ้ง ป้าหมอก็เลยรู้สึกสะเทือนใจ ก็คิดว่าถ้าเราอยากจะช่วยก็ควรจะช่วยไม่ต้องรอจนวันที่เรามีเงินมีทองมากมาย เหมือนเห็นคนตกน้ำไม่อยากคอยว่าต้องรอให้ชั้นมีทุกอย่างพร้อมก่อนถึงจะช่วย ก็อยากจะยื่นมือไปฉุดเค้ามาเลย พอดีกับเมื่อปี พ.ศ. 2528 ป้าหมอไปที่โบสค์คริตสจักรแล้วก็ไปเจอมิชชันนารีคนนึง บอกว่าอยากทำบ้านเด็กกำพร้า เราก็เลยเสนอตัวว่าอยากทำมากๆ เลย ก็เลยเหมือนกับช่วยกันก่อตั้งมูลนิธิชัยพฤกษ์ สร้างบ้านชัยพฤกษ์ขึ้น โดยการเช่าบ้านแล้วพาเด็กๆ มาอยู่รวมกัน เราก็ดูแลเค้าอย่างดีเท่าที่จะทำได้
 

...ตอนแรกเริ่มก็มีเด็กไม่กี่คนค่ะ เป็นเด็กที่รับผ่านกรมประชาสงเคราะห์บ้าง รับผ่านโดยการบอกปากต่อปากบ้าง ส่วนใหญ่เด็กพวกนี้พ่อไม่มีอยู่แล้วล่ะค่ะ แม่ก็จะเป็นเด็กผู้หญิงที่ยังไม่มีความพร้อมแล้วบังเอิญตั้งครรภ์ขึ้นมา อาจจะโดนกระทำชำเรา หรือว่าตั้งครรภ์แล้ว แฟนก็หนีไปบ้าง  เมื่อเราบอกว่าพร้อมที่จะช่วยเด็กประเภทนี้ เค้าก็จะติดต่อเข้ามา
 

...เราร่อนเร่อยู่ในกรุงเทพฯ ประมาณ 5 ปีค่ะ คือต้องย้ายบ้านกันไปเรื่อยๆ เพราะว่าลูกเราแยะ ชาวบ้านเค้าก็หนวกหู แล้วเรามีสัญญาเช่าบ้านกันปีต่อปี พอหมดปีเค้าก็ไม่ให้ต่อค่ะ _DSC0391.jpgจากชัยพฤกษ์ก็ย้ายไปพหลโยธิน ก็ย้ายไปเรื่อยๆ ที่ปัจจุบันนี่เป็นแห่งที่ 5 ค่ะ แล้วเราก็ขอบคุณพระเจ้าที่ไม่ต้องให้ย้ายบ้านอีกแล้ว เพราะพอเราย้ายเรื่อยๆ เราก็มีความรู้สึกสงสารเด็ก เค้าจะไม่รู้ว่าบ้านเค้าอยู่ตรงไหน เค้าโตมาจากไหน แล้วเราก็ไม่มีเงินพอที่จะซื้อบ้านในกรุงเทพฯ ด้วย แต่วันนึงป้าหมอก็จำได้ว่ามีที่ดินมรดกอยู่ที่นครนายก จึงตัดสินใจย้ายมาอยู่กันที่นี่ โดยในพื้นที่บ้านเด็กประมาณ 10 ไร่ แต่ที่นามรดกทั้งหมดรวม 250 ไร่ค่ะ”
 

มีเงื่อนไขในการรับเด็กไหมคะ

“การที่จะกรองเด็กตรงนี้ ป้าหมอก็จะดูว่าเค้ามีความจำเป็นจริงๆ  จะกรองโดยการสัมภาษณ์พ่อแม่เด็กค่ะ จริงๆ แล้ว เด็กแต่ละคนก็มีประวัติที่น่าสนใจแตกต่างกันค่ะ อย่างเด็กคนนึงเค้ามีปัญหากับครอบครัว คุณพ่อเค้าเสีย ก็มีพ่อเลี้ยง ทั้งพ่อทั้งแม่ก็ติดเหล้า บางครั้งก็ทำร้ายลูก เด็กก็จะหนีจากออกบ้าน ทางมูลนิธิสลัมคลองเตยก็ติดต่อเรามา ตอนแรกที่มานั้น เด็กคนนี้มีปัญหามากกว่าคนอื่นในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องภาษา เพราะเค้าไม่ได้รับการปลูกฝังเรื่องความประพฤติที่ดีงาม แต่ตอนนี้เค้าน่ารักมากค่ะ พูดจาไพเราะเชียว

...อีกรายก็แม่เลี้ยงลูกไม่ไหว อันที่จริงตัวแม่เองก็มีอาชีพที่ค่อนข้างดีมาก  แต่เค้าไม่มีปัญญาที่จะดูแล เค้าก็จ้างคนเลี้ยงลูก แล้วก็ไม่มีสตางค์ส่งต่อ เค้าก็เลยมาพึ่งเรา เพราะว่ามาให้เราไม่ต้องให้เงิน แล้วลูกก็ได้ทุกอย่าง
...ที่จริงป้าหมอก็คิดว่าเวลามีสื่อมาทำข่าวก็หวังว่าจะได้รับเงินบริจาคมาก ขึ้น  แต่ที่ไหนได้กลายเป็นมีคนติดต่อจะให้เด็กทั้งนั้น เพราะเห็นว่าเรารักเด็ก เราเลี้ยงดูเด็กอย่างดีค่ะ”
 

ความเป็นอยู่ของเด็กๆ ในบ้าน
 
“เรารักเค้าก็ต้องให้เค้าเหมือนกับที่ลูกเราได้ค่ะ เด็กที่นี่ต้องได้รับการเรียนหนังสือค่ะ ต้องได้เรียนเหมือนเด็กคนอื่นๆ เค้าต้องได้รับการดูแลร่างกายที่ดีเหมือนเด็กคนอื่นๆ ทั้งการดูแลจิตใจ และการดูแลจิตวิญญาณ อาจจะดีกว่าเด็กคนอื่นๆ ด้วย เพราะความที่เราเป็นแพทย์และเราเป็นชาวคริสเตียน ป้าหมอก็จะเน้นการเจริญเติบโตของร่างกาย 3 อย่างนี้พร้อมๆ กัน บางครอบครัวอาจจะไม่ได้นึกถึงเลย อาจจะคิดแค่ว่าให้ลูกอิ่มก็เพียงพอแล้ว เราต้องให้เค้าอิ่มใจแล้วก็อิ่มทางจิตวิญญาณด้วย เมื่อโตขึ้นเค้าจะได้ไม่มีปัญหา ว่าสุขภาพจิตไม่ดี สุขภาพจิตหวั่นไหว เหมือนเราสร้างภูมิต้าน_DSC0398.jpgทานสำหรับสังคมภายนอกที่กำลังใช้เด็กเป็น เครื่องมือ
...เด็กๆ ที่นี่ก็จะเรียนที่เดียวกันหมดคือ โรงเรียนอนุบาลองครักษ์ค่ะ และถ้าเค้ามีความสามารถพอ เค้าก็จะเรียนได้ถึงระดับมหาวิทยาลัยค่ะ หลายคนก็กำลังเรียนมหาวิทยาลัยอยู่ค่ะ ค่าใช้จ่ายก็สูงมาก เพราะว่าพวกนี้เค้าจะต้องออกไปอยู่หอ เราก็ช่วยเค้าจนกว่าเค้าจะเรียนจบค่ะ”
 

ค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนล่ะคะ 
 
“เดือนๆ นึง ป้าต้องมีค่าใช้จ่ายให้เค้าประมาณแสนห้าค่ะ เป็นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ากิน ค่าเล่าเรียน สารพัดค่ะ ก็เป็นเงินส่วนตัวของป้าหมอกับลุงหมอค่ะ ถ้าถามถึงเงินบริจาค ตอนนี้น้อยมากค่ะ แย่มาก บางเดือนก็ไม่มีเลยด้วยซ้ำ อาจจะเป็นไปได้ที่เราไม่ได้ทำการประชาสัมพันธ์เลย เพราะว่าเราไม่มีเงินตรงนี้ แต่คนที่รู้จักเราก็เยอะนะคะ แต่ด้วยความที่ทุกคนพยายามประหยัดกัน ก็เลยใช้เฉพาะที่จำเป็นจริงๆ
...ก็มีคนมาทักนะคะ เป็นเพื่อนที่รักกันมาพูดว่า นี่เธอจะบ้าเหรอไงมาทำแบบนี้ แต่ป้าหมอรู้ว่านี่คือความสุขของป้า เพราะสิ่งที่ป้าทำคือทำถวายพระเจ้า รู้ว่าพระเจ้าเรียกให้เรากลับมารับใช้ประเทศชาติ คือป้าบอกลุงหมอไว้เลยว่าถ้าไม่ได้ทำตรงนี้แล้วเราจะมาอยู่เมืองไทยทำไมกัน เพราะเราอยู่ที่เมืองนอกสบายกว่าเยอะ ซึ่งป้าหมอก็ภูมิใจค่ะ ที่ลุงหมอเองก็รักเด็กๆ มากเหมือนกัน”
 

รายจ่ายมากขนาดนี้...ลำบากมากไหมคะ 
 
“ไม่ลำบากหรอกค่ะ คือป้าหมอมีความเชื่อในพระเจ้า และรู้ว่าพระเจ้าไม่เคยทิ้งลูกของพระองค์ อย่างเช่นนกในอากาศมันก็ไม่ได้สะสมอะไร แต่มันก็อยู่ได้ ถ้าเราคิดได้แบบนั้นเราก็สบายใจ ถึงแม้ว่าการบริจาคเงินจะน้อยลง แต่คนที่บริจาคอาหารก็ยังคงมี แล้วก็มีมาอย่างต่อเนื่องไม่ให้เราอดอยาก
...แล้วเราก็จะมีวิธีหารายได้ของเรา คือ เราไม่อยู่นิ่ง เราไม่สอนให้ลูกขี้เกียจ ลูกๆ ทุกคนต้องช่วยตัวเองให้ได้  อย่างเด็กๆ เนี่ย ก็ต้องดูแลตัวเองให้ดี พี่ก็ดูแลน้องด้วย แต่งตัวให้เรียบร้อยลงมารับประทานอาหาร แล้วก็เตรียมพร้อมไปโรงเรียน ป้าก็คอยสอนให้เค้าปลูกผักปลูกต้นไม้ ทำสวน เด็กๆ ทุกคนเค้าเก่งมากเลยค่ะ เวลาที่ป้าออกไปเก็บผักบุ้ง เค้าก็ไปช่วยเก็บค่ะ ก็ช่วยๆ กันทำ แล้วก็เอาไปขาย เอาไปทานที่บ้านด้วย ผักที่เราช่วยกันปลูกก็มีผัก_DSC0405.jpgหวาน คะน้า แตงกวา หลายอย่างค่ะ
...ป้าหมอก็จะเข้ามาบ้านชัยพฤกษ์อาทิตย์ละ 3 วัน วันพุธ เสาร์และอาทิตย์ค่ะ แต่งานที่โรงพยาบาลก็ทำทุกวัน ก็แทนที่หมอท่านอื่นเค้าจะไปตีกอล์ฟกันก่อนเข้าโรงพยาบาล ป้าถือว่าเด็กพวกนี้คือกอล์ฟของป้า ที่ป้าคอยสอนให้เค้าเป็นคนดี แทนที่จะไปออกกำลังกาย ป้าหมอก็มาสอนเค้านวดขนมปัง พาย มัฟฟิน คุกกี้ พวกเบเกอรี่ต่างๆ เอาไปช่วยกันขายค่ะ ก็มีรายได้เพิ่มขึ้นมาอีกส่วนนึง นอกเหนือจากการขายผักผลไม้”
 

ได้อะไรจากการเป็นป้าหมอของเด็กๆ  คะ 
 _DSC0442.jpg
“มีความสุขมากค่ะ มีความรู้สึกว่าเหน็ดเหนื่อยจากงานมา เมื่อมาอยู่ตรงนี้ เรายิ้มได้ เราหายเหนื่อยแล้วมีความรู้สึกว่าได้เห็นเด็กๆ มีความสุขเมื่อเค้าเห็นเรา นอกจากนั้นก็เหมือนมาล้างปอดด้วย เพราะว่าอยู่ในกรุงเทพฯ หายใจไปก็ไม่ค่อยโล่งปอดเลย มาที่นี่กลับไปทำงาน ได้ทั้งกำลังใจ ได้ทั้งปอดที่สะอาดเพราะว่าที่นี่อากาศบริสุทธิ์กว่าอยู่ในกรุงเทพฯ เยอะเลยค่ะ บางทีป้าหมอมานอนที่นี่ แล้วเค้าก็จะแย่งกันรุมกอด จะแย่งกันนอนกับป้าหมอ ก็ ต้องแยกว่าคืนนี้ป้าจะนอนบ้านผู้ชาย อีกคืนนอนบ้านผู้หญิง
...เด็กพวกนี้ไม่ค่อยทะเลาะกันค่ะ เพราะป้าสอนให้เค้ารักกันมากๆ รักกันเหมือนพี่น้องแท้ๆ ฉะนั้นพี่ๆ ที่โตแล้ว ออกจากที่นี่ไปเค้าจะรักกันมาก เวลามีก็ปัญหาจะช่วยเหลือกัน นั่นคือจุดประสงค์ของเรา เพราะป้าจะบอกเค้าเลยว่า ป้าหมออยู่กับเค้าไม่ได้นาน ไม่ได้ตลอด แต่พี่น้องในบ้านของเราจะอยู่ด้วยกันได้ยาวนานกว่า เพราะฉะนั้นลูกมาจากไม่มีครอบครัว นี่คือครอบครัวที่เราสร้างให้เค้าค่ะ”
 

อนาคตของเด็กๆ กลุ่มนี้

“ก็ฝากไว้กับพระเจ้าค่ะ ไม่ต้องไปวางอะไรเลยแล้วก็ไม่ต้องไปหวังอะไรเลย ขอให้เค้าเป็นแสงสว่างเป็นคนที่ทำสิ่งที่ดีๆ ให้สังคม ป้าหมอก็ชื่นใจแล้ว
...ที่จริงในอนาคตที่จริงป้าหมอมีโครงการเยอะมาก แต่ว่าทุกโครงการมันต้องใช้เงินเยอะ ตอนนี้คือให้เราอยู่รอดไปก่อน ไม่ต้องปิด ทำยังไงที่เราไม่ต้องปิดตัว เพราะว่าตอนที่เราเริ่มต้นกับตอนนี้มันจะคล้ายคลึงกัน คือเราไม่มีเงิน เราอยู่ด้วยของบริจาคทั้งหมดเลยนะคะ ไม่ว่าจะเป็นข้าวสารอาหารแห้งทุกชนิด โดยเฉพาะที่สำคัญคือเงินทุนการศึกษา และเพื่อการอยู่รอดค่ะ
...ป้าหมออยากฝากบอกให้พ่อแม่ทุกคนเลี้ยงลูกให้ดี อย่าเลี้ยงแต่กาย ขอให้ดูแลจิตใจ จิตวิญญาณของลูกด้วย ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ อย่าทิ้งเค้าเพราะว่าลูกไม่ได้เลือกเกิด เราเป็นคนให้เค้าเกิดมาจากความสุขของเรา เพราะฉะนั้นให้คิดให้รอบคอบ การกระทำอะไรที่กระทบถึงลูก มันก็จะกระทบถึงสังคมส่วนใหญ่ด้วยค่ะ”
และทั้งหมดนี้เป็นชีวิตของผู้หญิงที่อุทิศเวลา แรงกายและใจทุ่มเทให้กับเด็กๆ กลุ่มนี้ แม้จะเหน็ดเหนื่อยสักแค่ไหน เธอก็บอกว่าไม่เคยคิดท้อ ขอแค่มีกำลังใจเท่านั้นเป็นพอ


“ก็มีคนมาทักนะคะ มาพูดว่า นี่เธอจะบ้าเหรอไงมาทำแบบนี้ แต่ป้าหมอรู้ว่านี่คือความสุขของป้า ที่ป้าอยากจะทำ”

หากท่านใดต้องการบริจาคช่วยเหลือ ‘บ้านเด็กชัยพฤกษ์’ ก็สามารถติดต่อนัดหมายกับป้าหมอได้ครับที่เบอร์โทร. 081-611-6261

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น