วันจันทร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

ในมุมมองของนักวิชาการไทย " ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ "

มองต่างมุมเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐ โดย : ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ 
กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 10 มกราคม 2554 03:00

ผมได้รับอีเมลบทความเรื่อง “2011-The Year of Catch 22” โดย Jim Quinn จากเว็บไซต์ The Burning Platform ซึ่งมีมุมมองเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐ


ใน แง่ลบแตกต่างจากความเห็นของสื่อกระแสหลักอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ แต่มีข้อมูลและสาระที่ผมเห็นว่าเป็นประโยชน์และมีการวิเคราะห์มีเหตุมีผล ผมจึงขอนำมาสรุปให้อ่านกันในครั้งนี้ครับ

เศรษฐกิจสหรัฐนั้นตกอยู่ในวังวนของความขัดแย้งหลายประการ เช่น


๐ เศรษฐกิจจะต้องฟื้นตัวเพื่อที่รัฐบาลจะเก็บภาษีได้มากขึ้นเพื่อลดการขาดดุล งบประมาณ แต่เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว ดอกเบี้ยก็จะต้องปรับเพิ่มขึ้น ทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ตกต่ำ และภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นสำหรับทั้งภาครัฐและประชาชน


๐ การฟื้นตัวซึ่งมาจากการเพิ่มการผลิตและการบริโภคย่อมจะกดดันให้ราคาน้ำมัน และวัตถุดิบอื่นๆ ปรับขึ้นไปอีกซึ่งจะเป็นผลลบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ


๐ คนอเมริกันจะต้องออมเงินมากขึ้นเพราะปัจจุบันสังคมอเมริกันกำลังแก่ตัวลง อย่างรวดเร็ว (ผู้ที่เกิดในยุค Baby Boom 1947-1962 กำลังเข้าสู่วัยชรา คืออายุ 65 ปีทุกๆ วัน วันละ 10,000 คน) แต่หากอัตราการออมปรับเพิ่มขึ้นจาก 6% ไปเป็น 10% ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมในระยะยาว ก็จะทำให้การบริโภคลดลงซึ่งจะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะสั้นและจะ ทำให้รัฐบาลขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นอีกด้วย


ปัจจุบันสื่อกระแสหลักประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐในปี 2011 จะขยายตัว 3-4% มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 2 ล้านตำแหน่ง กำไรของบริษัทจะขยายตัวทำให้ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก 10-15% (ทำให้เชื่อกันว่าตลาดหุ้นอื่นๆ รวมทั้งไทยจะสามารถปรับตัวได้ 15-20% ในปี 2011 เช่นกัน) แต่การฟื้นตัวในปี 2010 เป็นภาพลวงที่ก่อขึ้นมาจากการกู้เงินจำนวนมหาศาลโดยรัฐบาลและธนาคารกลางสหรัฐ ตัวอย่างเช่นเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2010 หนี้สาธารณะของสหรัฐเท่ากับ 12.3 ล้านล้านดอลลาร์ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2010 หนี้สาธารณะของสหรัฐเท่ากับ 13.9 ล้านล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 1.6 ล้านล้านดอลลาร์ ในขณะเดียวกันงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐเพิ่มขึ้นจาก 2.28 ล้านล้านมากเป็น 2.46 ล้านล้านหรือเพิ่มขึ้น 180,000 ล้านดอลลาร์ในช่วงเดียวกัน รวมแล้วสหรัฐใช้เงินถึง 1.8 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2010 แต่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวจริงเพียง 2.7% หรือ 350,000 ล้านดอลลาร์ในช่วงเดียวกัน กล่าวคือรัฐบาลกับธนาคารกลางสหรัฐ “ลงทุน” เท่ากับ 13% ของจีดีพีเพียงเพื่อทำให้จีดีพีสหรัฐขยายตัว 2.7%


หากมองกลับไปช่วงก่อนวิกฤติในเดือนกันยายน 2008 ก็จะพบว่าหนี้สาธารณะของสหรัฐอยู่ที่ 9.7 ล้านล้านดอลลาร์ แปลว่าในช่วงกอบกู้วิกฤตินั้นรัฐบาลสหรัฐกู้เงินเพิ่มขึ้นถึง 4.2 ล้านล้านดอลลาร์ ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น 43% ในเวลาเพียง 27 เดือน ส่วนธนาคารกลางสหรัฐพิมพ์เงินออกมาซื้อสินทรัพย์ (ที่คนอื่นไม่อยากซื้อ) ทำให้งบดุลเพิ่มขึ้นจาก 963,000 ล้านดอลลาร์เป็น 2.46 ล้านล้านดอลลาร์หรือเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ (155%) รวมเม็ดเงินที่ใช้อุ้มเศรษฐกิจในช่วง 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา เท่ากับ 5.7 ล้านล้านดอลลาร์ แต่สิ่งที่ได้คืนมาคือจีดีพีจริง (หักเงินเฟ้อ) ในไตรมาส 3 ปี 2010 หากคำนวณเฉลี่ยเต็มปี (annualized) จะเท่ากับ 13.3 ล้านล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับ 13.2 ล้านล้านดอลลาร์ในไตรมาส 3 ของปี 2008 


กล่าวคือทางการสหรัฐกู้เงิน 5.7 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อ “ยัน” ให้เศรษฐกิจกลับไปที่เดิมก่อนเกิดวิกฤติ ซึ่งผู้เขียนเปรียบเทียบว่าเสมือนกับการที่หมอรักษาคนไข้ที่เป็นมะเร็ง (กู้เงินมากเกินไปมาเก็งกำไรบ้าน) โดยการฉีดเชื้อมะเร็งเพิ่มให้คนไข้ (รัฐบาลกู้เงินจากลูกหลานมาใช้) พร้อมกับฉีดมอร์ฟีนขนานใหญ่คือการพิมพ์เงินเพื่อดึงดอกเบี้ยลงเหลือศูนย์ การ “ฟื้นตัว” ของเศรษฐกิจในปี 2010 ควรเข้าใจให้ถูกต้องว่ามีพื้นเพมาเช่นนี้

สรุปได้ว่า นายเบอร์นันเก้ (ผู้ว่าการธนาคารกลาง) นายไกน์เนอร์ (รมว.คลัง) และ นายโอบามา กำลังเดิมพันว่าประชาชนสหรัฐจะหลงเชื่อว่าเศรษฐกิจกำลังดีวันดีคืน และหันมาใช้จ่าย ทุกภาคส่วนเกิดความเชื่อมั่น มีการผลิตและจ้างงานเพิ่ม ราคาหุ้นปรับเพิ่มขึ้น ทำให้เศรษฐกิจบูมอีกครั้ง รัฐบาลก็จะเก็บภาษีได้เพิ่มและรายจ่ายสวัสดิการสำหรับผู้ตกงานก็จะลดลง สามารถลดการขาดดุลและลดหนี้สาธารณะได้ แต่คำถามคือการสร้างภาพลวงดังกล่าวจะประสบความสำเร็จต่อเนื่องในปี 2011 หรือไม่


ยอดขายสินค้าในสหรัฐปรับเพิ่มขึ้น 6.5% ในปี 2010 จากการที่ผู้บริโภคเริ่มเกลับมารูดบัตรเครดิตมากขึ้นเพื่อซื้อไอแพด โทรทัศน์จอแบน รองเท้า เครื่องประดับ ฯลฯ พร้อมกับการที่สถาบันการเงินของภาครัฐพยายามปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยอย่าง ต่อเนื่อง (แม้ว่าธนาคารพาณิชย์จะกำลังไล่ตามยึดบ้านจากลูกหนี้ที่เบี้ยวหนี้) ทำให้ปัจจุบันอัตราการออมของชาวอเมริกันกำลังปรับลดลงอีกแล้ว แสดงว่าประชาชนเริ่มกลับเข้าสู่นิสัยเดิมคือ “รูดก่อนจ่ายทีหลัง” แต่การออมของชาวสหรัฐที่ 5.9% ของรายได้นั้น มาจากการให้เปล่าของภาครัฐ (transfer payment) 3.9% หมายความว่าหากรัฐบาลสหรัฐไม่ได้กู้เงินอนาคตมาแจก คนอเมริกันก็จะออมเงินแค่ 2% เท่านั้น ตั้งแต่กันยายน 2008 ถึงปลายปี 2010 นั้นเงินเดือนของประชาชนโดยรวมลดลง 127,000 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่รัฐบาลแจกเงินผ่านมาตรการรัฐสวัสดิการต่างๆ รวมทั้งสิ้น 441,000 ล้านดอลลาร์


ปัจจุบันสัดส่วนของการบริโภคต่อจีดีพีของสหรัฐอยู่ที่ 70% ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าเป็นสัดส่วนที่สูงเกินไปควรลดลงมาที่ 65% และอัตราการออมควรกลับขึ้นไปอยู่ที่ 8-10% (การที่คนอเมริกันใช้จ่ายเกินตัวนั้นเห็นได้จากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่ 3.5% ของจีดีพี) แต่ที่สำคัญคือการใช้จ่ายเกินตัวดังกล่าวเกิดขึ้นจากการกู้เงินโดยภาครัฐ ซึ่งยิ่งอันตราย ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่ยั่งยืน แม้ว่าความรู้สึกของคนทั่วไปในครึ่งแรกของปีนี้คงจะเห็นพ้องต้องกันว่า เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง แต่ก็จะเป็นผลมาจากการปั๊มเงินเข้าระบบโดยการซื้อพันธบัตรรัฐบาลของนายเบอร์ นันเก้เดือนละ 75,000 ล้านดอลลาร์ ประกอบกับการลดภาษีและเงินอุดหนุนผู้ตกงานของนายโอบามารวมทั้งสิ้นกว่า 800,000 ล้านดอลลาร์


แต่ในครึ่งหลังของปีนี้สถานการณ์อาจพลิกผันไปในทางลบได้ เช่นราคาบ้านในสหรัฐที่แม้จะปรับตัวลดลงไปแล้ว 33% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่ก็น่าจะลดลงได้อีก 23% เพื่อให้ราคาบ้านกลับไปสู่ระดับปกติ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาถึงปลายปี 2012 แปลว่าปัญหาการยึดทรัพย์และขายทอดตลาดยังจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินเชื่อที่ถึงกำหนดจะต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นซึ่งมีมูลค่า 200,000 ล้านดอลลาร์ พร้อมกับบ้านที่ถูกยึดและรอขายอยู่แล้ว 3.9 ล้านหลัง จากการประเมินของธนาคารกลางสหรัฐสาขาดาลาส คาดว่ามีบ้านที่จะถูกยึดเนื่องจากผู้กู้ไม่สามารถชำระหนี้ได้อีก 6 ล้านหลัง


นายเบอร์นันเก้ ได้เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2010 ว่านโยบายพิมพ์เงินออกมาซื้อพันธบัตรรัฐบาลของเขา (คิวอี 2) นั้นมีวัตถุประสงค์หลักคือ “การกดดอกเบี้ยเงินกู้ให้ลดลงเพื่อทำให้การเป็นเจ้าของบ้านทำได้ง่ายขึ้นและ ผู้ที่กู้บ้านอยู่แล้วจะมีภาระลดลง” แต่ปรากฏว่าดอกเบี้ยเงินกู้บ้านกลับปรับตัวสูงขึ้นจากวันที่ 2 พ.ย. ที่ระดับ 4.2% เป็น 5% ในปัจจุบัน กล่าวคือภาระของประชาชนเพิ่มขึ้นมิได้ลดลง


หาก นายเบอร์นันเก้ จะพิมพ์เงินดอลลาร์ออกมาเพิ่มขึ้นอีกก็ไม่แน่ใจว่าจะช่วยแก้ปัญหาได้ เพราะตั้งแต่วิกฤติที่ธนาคารกลางสหรัฐพิมพ์เงินออกมาจนทำให้งบดุลธนาคารกลาง เพิ่มขึ้นถึง 23 เท่าตัวนั้น ปรากฏว่าราคาสินค้าในสหรัฐเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่นราคาน้ำมันเพิ่มจาก 1.62 ดอลลาร์ต่อแกลลอน เป็น 3.05 ดอลลาร์ ราคาทองเพิ่มจาก 814 ดอลลาร์ต่อออนซ์ มาเป็น 1,421 ดอลลาร์ ราคาทองแดง เงิน ข้าวโพด กาแฟ ข้าวสาลี ฯลฯ ต่างเพิ่มขึ้น 30-90% สำหรับธนาคารกลางของสหรัฐเองนั้นการพิมพ์เงินออกมาซื้อสินทรัพย์ที่มีความ เสี่ยงหรือแม้แต่การซื้อพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นนั้นกำลังจะทำให้เกิดความเสียหายต่อธนาคารกลาง สหรัฐและอาจต้องพิมพ์เงินออกมาล้างขาดทุน ซึ่งจะทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อไปอีก และอาจทำให้ราคาน้ำมัน และวัตถุดิบสำคัญๆ เพิ่มขึ้น สร้างแรงกดดันให้เศรษฐกิจตกต่ำลงได้อีก


ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรปปัญหารัฐบาลท้องถิ่นในสหรัฐ และความขัดแย้งทางการเมืองที่จะรุนแรงขึ้นในสหรัฐ ทำให้ผู้เขียนเชื่อว่าการเดิมพันของผู้นำสหรัฐจะประสบความล้มเหลวในที่สุด ดังนั้นการวาดภาพอันสวยหรูว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 3-4% การจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 2 ล้านตำแหน่งและการที่ตลาดหุ้นจะปรับเพิ่มขึ้น 10-15% นั้น หากนายเบอร์นันเก้ ต้องกล่าวถึง คิวอี 3 เมื่อใดก็แปลว่าการเดิมพันนั้นได้ถูกเปิดโปงและปัญหาใหญ่กำลังคืบคลานมาถึง แล้วครับ


The Gold War Phase II...by Jimmy Siri บน Facebook
http://www.facebook.com/home.php?sk=group_170408246326805&ap=1

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น