วันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

Gold Update.......This way

รัฐบาลทั่วโลกตื่นตัวปัญหาเงินเฟ้อ สร้างปรากฏการณ์ถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ


ในปีพ.ศ. 2552 "มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ" ถือเป็นวาระของโลกเลยก็ว่าได้ เพราะประเทศน้อยใหญ่ตั้งแต่ฝั่งตะวันตก ยุโรป ไปจนถึงเอเชีย พร้อมใจกันใช้มาตรการดังกล่าวเพื่อพลิกฟื้นสถานการณ์เศรษฐกิจของตนเอง แต่เมื่อสัญญาณเงินเฟ้อเริ่มปรากฎให้เห็นในช่วงปลายไตรมาส 4 ทำให้รัฐบาลทั่วโลกหันมาให้น้ำหนักกับปัญหาเงินเฟ้อมากกว่าจดจ่ออยู่กับการ กระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัว หากปัญหาเงินเฟ้อยังคุกคามระบบเศรษฐกิจอย่างไม่หยุดหย่อน เราก็อาจเห็นปรากฏการณ์ "ถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ" หรือคำที่ฮิตติดปากนักเศรษฐศาสตร์ในตอนนี้ว่า Exit Strategies  เป็นวาระของโลกในปีพ.ศ. 2553 ก็ได้

* ตื่นปัญหาภาวะเงินเฟ้อ-ฟองสบู่ ธนาคารกลางยักษ์ใหญ่ทั่วโลกแห่ชะลอใช้มาตรการฟื้นฟู

หากยังจำกันได้ ตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งลงอย่างหนักเมื่อสหรัฐประกาศตัวเลขจีดีพีช่วงต้นปี 2552 หดตัวลงถึง 6.1% ต่อปี ทำให้ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ตัดสินใจลงนามผ่านร่างกฎหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 7.87 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นพิธีลงนามอันยิ่งใหญ่ที่ได้ใจคนทั้งชาติ และถือเป็นหนึ่งในข่าวท็อปเทนปี 2552 ของเว็บไซต์ CNN การนำร่องใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐทำให้หลายประเทศดำเนินนโยบายตาม ในเวลาต่อมา รวมถึงจีนที่อัดฉีดเงิน 5.83 แสนล้านดอลลาร์เข้าไปฟื้นฟูเศรษฐกิจ อีกทั้งยังเปิดทางให้ธนาคารพาณิชย์ในประเทศปล่อยเงินกู้ให้กับภาคครัวเรือน และเอกชนอย่างมหาศาล โดยเฉพาะในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2552 ธนาคารพาณิชย์จีนปล่อยวงเงินกู้สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 9.2 ล้านล้านหยวน หรือ 1.3 ล้านล้านดอลลาร์

แต่ในช่วงปลายไตรมาส 4 ปี 2552 ยาวมาจนถึงปี 2553 เม็ดเงินหลายล้านล้านดอลลาร์ที่รัฐบาลทั่วโลกอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจก็ เริ่มกลายเป็นดาบสองคม เพราะสภาพคล่องในระบบสูงเกินไปและไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ กูรูเศรษฐกิจหลายคน รวมถึง บิล กรอส และวอร์เรน บัฟเฟตต์ ร้อนใจจนต้องออกมาเตือนว่ามาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ทำให้มีสภาพคล่องหนาแน่น ในระบบนั้นจะทำให้เศรษฐกิจโลกเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อครั้งใหญ่ โดยเฉพาะบัฟเฟตต์ที่แสดงความกังวลว่าตัวเลขเงินเฟ้อทั่วโลกจะพุ่งขึ้นรุนแรง กว่าในช่วงทศวรรษที่ 70

คำเตือนของบัฟเฟตต์ไม่สูญเปล่า เพราะคณะทำงานของโอบามา "ให้ราคา" กับทุกสัญญาณของมหาเศรษฐีนักลงทุนผู้นี้มาโดยตลอด ดังนั้นรัฐบาลสหรัฐและธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จึงหันมาตื่นตัวเรื่องเงินเฟ้อและเริ่มวางยุทธศาสตร์การถอนมาตรการกระตุ้น เศรษฐกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากเฟดที่ตัดสินใจประกาศปิดโครงการจัดหาสภาพคล่องฉุกเฉินบางส่วนเมื่อ วันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา หลังจากเฟดใช้โครงการดังกล่าวมาระยะหนึ่งแล้วเพื่อยับยั้งวิกฤตการณ์การเงิน ที่เป็นผลมาจากปัญหาในตลาดปล่อยกู้เพื่อการซื้อบ้าน นอกจากนี้ เฟดยังประกาศชะลอการเข้าซื้อหลักทรัพย์และตราสารหนี้ และจะปล่อยให้โครงการซื้อหลักทรัพย์หมดอายุลงในไตรมาสแรกของปี 2553

ประเทศอื่นๆก็ตื่นตัวเรื่องเงินเฟ้อไม่แพ้สหรัฐ โดยเฉพาะธนาคารกลางออสเตรเลียที่นำร่องประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยติดต่อกัน 3 เดือนรวด ความเคลื่อนไหวดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าออสเตรเลียหวาดหวั่นกับพิษภัยเงิน เฟ้อมากกว่าเศรษฐกิจถดถอย ในขณะที่ธนาคารกลางอินเดียก็มีคำสั่งให้ธนาคารพาณิชย์เพิ่มการสำรองสภาพ คล่อง 25% จากเดิม 24% พร้อมกับปิดกองทุนพิเศษในการซื้อคืนหลักทรัพย์สำหรับธนาคาร อีกทั้งยังปิดวงเงินสว็อปอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับภาคธนาคาร และลดวงเงินการรีไฟแนนซ์สินเชื่อเพื่อการส่งออกลงสู่ระดับก่อนเกิด วิกฤตการณ์ โดยอยู่ที่ระดับ 15% จาก 50%

ในฝั่งของจีนซึ่งถูกจับตาเรื่องเงินเฟ้อมากที่สุดในบรรดาประเทศเอเชีย นั้น เมื่อวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารกลางจีนสร้างความประหลาดใจให้กับตลาดด้วยการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยใน การประมูลตั๋วเงินคลังอายุ 3 เดือนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่กลางเดือนส.ค.2552 ส่งผลให้ค่าสว็อปอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศ (NDIRS) พุ่งขึ้นอย่างมาก การดำเนินการดังกล่าวถือเป็นการส่งสัญญาณว่า จีนก็หวั่นใจกับปัญหาเงินเฟ้อไม่แพ้ประเทศอื่นๆเช่นกัน
* ตะลึง สหรัฐ-จีน เพิ่มโดสยาแรง หวั่นอุณหภูมิเงินเฟ้อพุ่งปรอทแตก

คล้อยหลังวันที่ 7 ม.ค.ได้เพียงไม่กี่วัน ทางการจีนก็เริ่มใช้ยาแรงในการสกัดเงินเฟ้อและฟองสบู่ อาจเพราะเห็นว่าโดสยาที่ใช้เมื่อคราวที่แล้ว คงสยบพิษภัยของเงินเฟ้อได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น กระทั่งเมื่อวันที่ 12 ม.ค. ธนาคารกลางจีนดำเนินมาตรการที่แข็งกร้าวในการคุมเข้มนโยบายการเงินด้วยการ ออกคำสั่งให้ธนาคารพารณิชย์เพิ่มเพดานการกันสำรอง 0.5% ซึ่งเป็นการดำเนินการที่เร็วเกินคาด และส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินทั่วโลก เท่านั้นยังไม่พอ ธนาคารกลางจีนยังได้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยตั๋วเงินคลังอายุ 1 ปี วงเงิน 2 หมื่นล้านหยวน (2.9 พันล้านดอลลาร์) ดูดซับเม็ดเงินสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 2 แสนล้านหยวนออกจากระบบการเงินผ่านทางข้อตกลงซื้อคืนตั๋วเงินคลังอายุ 28 วัน... ยาโดสนี้แรงใช้ได้ เพราะทำเอาตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งเหวกันถ้วนหน้า

จากนั้นในช่วงเย็นวันที่ 12 ก.พ. จีนได้สร้างปรากฏการณ์ตื่นเงินเฟ้ออีกครั้ง ด้วยการประกาศเพิ่มสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์อีก 0.5% ซึ่งเป็นครั้งที่ 2 ในรอบหนึ่งเดือน แต่ที่น่าสนใจคือจีนซึ่งมีสมญานาม "มังกรซ่อนเล็บ" ประกาศมาตรการดังกล่าวหลังจากตลาดหุ้นและตลาดเงินของจีนปิดทำการไปแล้ว และปิดยาวไปจนถึงวันที่ 19 ก.พ.เนื่องในเทศกาลตรุษจีน ทำให้นักลงทุนได้ฉลองตรุษจีนกันอย่างซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้ ไม่ต้องมีปฏิกริยากับข่าวนี้ แต่เมื่อตลาดหุ้นจีนเปิดทำการวันจันทร์ที่ 22 ก.พ. ตลาดหุ้นจีนก็ร่วงลงแต่เช้า เนื่องจากข่าวการประกาศเพิ่มการกันสำรองแบงค์พาณิชย์นี้เอง

ฟากสหรัฐก็คงตระหนักถึงผลดีของการประกาศมาตรการหลังตลาดหุ้นปิดทำการ ทำให้เราได้เห็นข่าวเช้าตรู่ของวันศุกร์ที่ 19 ก.พ.ตามเวลาประเทศไทย ว่า เฟดประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน (discount rate) 0.25% เป็น 0.75% หลังจากมีข้อมูลยืนยันว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มขยายตัวรวดเร็วสุดในรอบ 4 ปี โดยเฉพาะจีดีพีไตรมาส 4 ปี 2552 ที่ขยายตัวในอัตรา 5.7% ต่อปี ซึ่งทำสถิติขยายตัวสูงสุดในรอบกว่า 6 ปี ... แต่ผลพวงที่เกิดขึ้นในสหรัฐได้ผลเกินคาดกว่าจีน เมื่อตลาดหุ้นนิวยอร์กเปิดทำการในวันต่อมา ดัชนีดาวโจนส์กลับปิดในแดนบวก เพราะนักลงทุนมองมุมบวกว่า การที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยมาตรฐานในครั้งนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่าระบบเศรษฐกิจและ การเงินของสหรัฐน่าจะฟื้นตัวแล้ว
* ถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใครว่าง่าย ... อาจมีทั้งได้และมีทั้งเสีย

ก่อนที่ความเคลื่อนไหวเรื่องการถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะปรากฏให้เห็น ชัดเจนขึ้นในปัจจุบัน ผู้รอบรู้หลายท่านเคยออกมาแสดงความกังวลว่า หากถอนมาตรการเร็วเกินไปก็อาจทำให้เศรษฐกิจตกอยู่ในภาวะเปราะบางและสุ่ม เสี่ยงที่จะถดถอยอีกระลอก ที่เสียงดังที่สุดคงจะเป็นโจเซฟ สติกลิทซ์ ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียและเจ้าของรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ ที่ไม่เห็นด้วยมาตั้งแต่ต้นกับการถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในสหรัฐ มิหนำซ้ำยังสนับสนุนให้รัฐบาลเตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับที่ 2 เอาไว้เนื่องจากเศรษฐกิจยังเปราะบางอยู่มาก
สติกลิทซ์ยังกล่าวด้วยว่า การที่สหรัฐและประเทศอื่นๆเริ่มถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น นับว่าเร็วเกินไป เนื่องจากตลาดแรงงานของสหรัฐยังตึงตัวอย่างหนัก ซึ่งการแสดงความเห็นของสติกลิทซ์สอดคล้องกับที่ พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ กล่าวไว้ว่า สหรัฐจะต้องใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับที่ 2 มิฉะนั้นอาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่อัตราว่างงานพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดใน รอบหลายปี

ภาระหนักตกอยู่ที่รัฐบาลสหรัฐที่ตัดสินใจอย่างรอบคอบว่า จะจัดการกับปัญหาเงินเฟ้ออย่างไรจึงจะไม่ส่งผลกระทบกับการขยายตัวของ เศรษฐกิจ และต้องตัดสินใจให้เด็ดขาดว่าควรใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบสองตามคำแนะนำ ของเหล่ากุนซือหรือไม่ แต่สิ่งที่รัฐบาลสหรัฐกำลังคิดหนักในเวลานี้ก็คือการควบคุมยอดขาดดุลงบ ประมาณที่ส่อเค้าว่าจะพุ่งแตะ 1.6 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2553 เพราะสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือรายใหญ่อย่างมูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ติดตามสถานการณ์งบประมาณของสหรัฐอย่างไม่ลดละ ถึงขนาดเตือนว่า อันดับความน่าเชื่อพันธบัตรของรัฐบาลสหรัฐอาจตกอยู่ภายใต้แรงกดดันในอนาคต นอกเสียจากว่ารัฐบาลจะใช้มาตรการเพิ่มเติมเพื่อลดยอดขาดดุลงบประมาณ

นอกจากนี้ มูดีส์ยังกล่าวด้วยว่า อันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐอยู่ในกลุ่มยืดหยุ่น (Resilient AAA) ซึ่งนับว่าด้อยกว่าแคนาดา เยอรมนี และฝรั่งเศสที่อยู่ในกลุ่มต้านทาน (Resistant AAA) เนื่องจากทั้ง 3 ประเทศได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์การเงินโลกน้อยกว่าสหรัฐ และจากข้อมูลขององค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) พบว่า หนี้สาธารณะของสหรัฐมีแนวโน้มพุ่งแตะ 97.5% ของกิจกรรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมในปี 2553 จากปีนี้ที่ระดับ 87.4%

เงินเฟ้ออาจจะได้เป็นวาระของโลกแทนที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ในขณะ นี้ แต่ก็เป็นวาระที่ทุกฝ่ายไหวตัวรับมืออย่างทันท่วงที ผลจากนี้ต่อไปคงต้องติดตามกันอย่างไม่ละสายตา

สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ) -- พุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 2553 14:01:06 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น