ต้องขอขอบคุณ คุณ cool_kid สำหรับข่าวนี้ และไม่อยากให้มองข้ามไปครับ เพราะ ดร.โกร่ง มองได้ทะลุและสะท้อนสภาวะเศรษฐกิจโลกออกมาให้พวกเราเห็นได้ชัดพอสมควร ถ้าใครที่เคยอ่านสามก๊ก น่าคิดครับว่าเศรษฐกิจโลกโดยรวมอาจจะ "ต้องกลห่วงโซ่" ของกุนซือบังทอง( New World Order ) เข้าแล้วครับ โดยการผูกโลกเข้าด้วยกันผ่านโลกาภิวัฒน์ หรือ Globalization และสร้างวิกฤติเศรษฐกิจในระดับโลก แล้วซ้ำเติมด้วยวิธีการกู้ พิมพ์ ปั๊ม แล้วอัดฉีดเงินกระดาษเข้าสู่ระบบพร้อมๆ กันทั่วโลก โดยแทบจะไม่มีการแก้ปัญหาพื้นฐานใดๆ นั่นก็คือตัว Capitalism หรือระบบทุนนิยมนั่นเอง
หลายๆ ประเทศทดลองยาขนานนี้มาแล้วครับ ไม่ว่าจะเป็นประเทศเรา เกาหลีใต้ บราซิล และอาเจนติน่า ครั้งนี้เล่นกันในระดับโลกเลย และยาขนานนี้ก็ได้รับการรับรองจาก IMF มาแล้วครับ ว่าทำให้ประเทศนั้นๆ "เกิด" แน่นอน แต่คือการ "เกิดใหม่" ครับ ก็คือต้องล้มตายลงไปก่อน ที่น่าสังเกตุคือการแก้ปัญหาในลักษณะนี้ทั้งหมดออกมาจากที่ประชุม G20 ครับ แล้วรู้ไม๊ครับว่าใครเป็นคนริเริ่มการประชุม G20 ก็คือบาบิโลน(สหรัฐ)โดยการผลักดันของกลุ่ม NWO นั่นเอง ถ้าใครตามอ่านบล๊อก "ประหลาด" นี้มาตลอดคงจะรู้จักเกมส์ไพ่อีลูมินาติครับ นี่ก็เป็นอีก 1 ใบที่อยู่ในเกมส์ ต้องดูกันต่อไปครับว่่าผลจะออกมาอย่างไร เพราะลมพายุทางเศรษฐกิจก็โหมแรงขึ้นทุกทีแล้ว เค้าจะเริ่มจุดไฟเมื่อไหร่เท่านั้นเองครับ???
"ดร.โกร่ง" วีรพงษ์ รามางกูร ออกโรงปาฐกถาพิเศษมุมมองศก.อีกครั้งหลังจากห่างหายไปถึง2ปี มารอบบี้ดร.โกร่งก็ยังฟันธงว่าศก.ยังไม่ฟื้นดี พร้อมให้จับตาสหรัฐฯว่าจะถอยกลับไปมีวิกฤตอีกหรือไม่ เชื่อยุโรปยังอ่อนแอ เหลือแต่เอเชีย ที่มี จีน อินเดีย เป็นหัวหอกจะเป็นหลักให้กับเศรษฐกิจโลก ส่วนในเอเชียแนะจับตาแหนมเนืองไครซิสในเวียดนาม
ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ประธานกรรมการ บริษัท แอ๊ดวานซ์อะโกร จำกัด (มหาชน) อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง "ภูมิทัศน์เศรษฐกิจโลก หลังวิกฤตซับไพรม และผลกระทบต่อประเทศไทย" จัดโดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่ง ดร.วีรพงษ์ได้วิเคราะห์การเคลื่อนย้าย "จุดรวมศูนย์โลกใหม่" ว่า
ผมเงียบมาเป็นเวลาเกือบ 2 ปี วันนี้เกรงใจจริง ๆ เพราะคนเชิญคุ้นเคยกันมาก วันนี้อาจจะพูดไม่คล่องเหมือนเมื่อก่อนเพราะได้ว่างเว้นการพูดในที่สาธารณะ มานาน หัวข้อที่ตั้งให้เป็นหัวข้อที่ผู้จัดเป็นคนตั้ง ผู้จัดถามว่า อยากจะพูดเรื่องอะไร ก็บอกว่า อยากจะฟังเรื่องอะไรให้ตั้งมา ทางผู้จัดได้ตั้งหัวข้อว่า "ภูมิทัศน์เศรษฐกิจโลกและผลที่อาจจะกระทบต่อประเทศไทย"
เป็นที่ทราบดี ว่า ตั้งแต่เกิดปัญหาซับไพรมในสหรัฐอเมริกาลุกลามไปยังยุโรปและภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก วิกฤตการณ์ครั้งนี้ใหญ่มากและก็ลึกอย่างมาก อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน แม้จะเทียบกับวิกฤตเศรษฐกิจถดถอย Recession ปี 1929 วิกฤตการณ์ครั้งนี้อาจจะใหญ่กว่าเสียด้วยซ้ำ ทั้งนี้เพราะสถานการณ์โลกได้เชื่อมต่อกันหมด ทั้งด้านการค้า สินค้าและบริการ และทางด้านการเงิน ดังนั้นเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ที่กระทบกระเทือนต่อสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกา และยุโรปแล้ว สถานการณ์ก็ได้แพร่กระจายไปทั่วโลก
อาการของวิกฤตการณ์ ครั้งนี้เกิดขึ้นกับสถาบันการเงินและลุกลามไปที่ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง ทำให้เกิดการว่างงานเพิ่มขึ้น ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ เที่ยวนี้เป็นเที่ยวที่แปลกกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งโลกพร้อมใจกันใช้นโยบายอย่างเดียวกัน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีปรากฏการณ์เช่นนี้ เมื่อก่อนนั้นเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ในประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือในภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่งจะใช้นโยบายการเงินเฉพาะภูมิภาคนั้น ส่วนที่อื่นที่ไม่เกิดก็จะดำเนินนโยบายเศรษฐกิจไปพร้อม ๆ กัน
ข้อที่ น่าสังเกตเที่ยวนี้คือ การประกาศใช้นโยบายเหมือนกันหมด คือนโยบายการขาดดุลงบประมาณ ไม่ว่าจะที่สหรัฐอเมริกา ยุโรป เอเชีย และประเทศอื่น ๆ แม้กระทั่งประเทศจีนและอินเดีย สิ่งที่น่าสนใจคือ ประกาศว่านโยบายที่ใช้ขณะนี้เป็นนโยบายที่ทำตามความเห็นของจอห์น เมนาร์ดเคนส์
แต่ถ้าให้ดูลึกลงไปจะเห็นว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ stimulation package ไม่ว่าจะของสหรัฐ ยุโรป มาตรการทางด้านการเงิน มาตรการการคลังขาดดุลอย่างมาก จะหยุดอยู่แค่การช่วยเหลือสถาบันการเงิน บริษัทใหญ่ไม่ให้ล้มละลายเท่านั้น ในสหรัฐจะเห็นได้ชัดเจนว่า มาตรการทั้งหมดที่ใช้ 1.2 ล้านล้านเหรียญ เป็นมาตรการด้านการเงินที่ใช้ช่วยเหลือสถาบันการเงินและบริษัทใหญ่ ๆ เช่น บริษัทรถยนต์ให้รอดพ้นจากการล้มละลาย ในกรณีของยุโรปก็เช่นเดียวกัน ส่วนใหญ่แล้วเงินช่วยเหลือที่นำมากระตุ้นเศรษฐกิจก็หยุดแค่การช่วยสถาบันการ เงินและบริษัทใหญ่ ๆ ที่มีปัญหาทางด้านการเงิน
ดังนั้นตามความเห็นของผม นโยบายที่ใช้อยู่ไม่ใช่มาตรการหรือนโยบายตามทฤษฎีของจอห์น เมนาร์ดเคนส์ หากเป็นไปตามที่ทฤษฎีของเคนส์ เงินที่นำมาใช้ในนโยบายที่จะต้องต้านการตกต่ำเศรษฐกิจน่าจะไปที่ภาคเศรษฐกิจ ที่แท้จริงมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เกิดเศรษฐกิจซบเซาหลังที่เกิดวิกฤตการณ์ ในช่วงที่เอกชนไม่สามารถลงทุนได้ อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่ต่ำสุด หากท่านเรียนเศรษฐศาสตร์ก็คงอยู่ในช่วงที่เส้น LM ขนานกับแกนนอน เพราะส่วนที่จะลงทุนได้ก็จะเป็นภาครัฐบาล แต่เราไม่ได้ยินโปรแกรมการลงทุนจากภาครัฐทั้งในสหรัฐหรือยุโรป
การใช้จ่ายเงินที่ได้จากการขาดดุลงบประมาณมุ่งไปรักษา เสถียรภาพสถาบันการเงินและบริษัทใหญ่ ๆ เท่านั้นเอง ด้วยเหตุนี้จึงมีเสียงบ่นว่า หลังจากที่ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมา 2 ปี ทั้งในสหรัฐและยุโรปอัตราการว่างงานไม่ได้ลดลง จึงไม่น่าแปลกใจ เพราะการใช้เงินในการบรรเทาวิกฤตการณ์ไม่ได้มุ่งไปที่การลงทุน การสร้างงาน เป็นแต่เพียงพยายามพยุงฐานะของภาคการเงินไม่ให้เกิดภาวะล้มละลายเท่านั้นเอง ภาวะเศรษฐกิจซบเซาจึงดำเนินต่อไปและยังอยู่ทั้งที่สหรัฐและยุโรป ผลคือหนี้ภาครัฐบาลเพิ่มขึ้น