วันพฤหัสบดีที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ในมุมมองของนักวิชาการไทย " ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ "

มองปัจจัยพื้นฐานและความหมายท้าทายทางเศรษฐกิจในอนาคต
โดย : ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 27 ธันวาคม 2553 03:00


ในช่วงปลายปีเก่า ถึงต้นปีใหม่ก็จะมีการเขียนถึงแนวโน้มเศรษฐกิจในปีใหม่ แต่ผมขอนำเสนอทางเลือกใหม่ในการมองอนาคตโดยพูดถึงปัจจัยพื้นฐาน และแก่นสารของความท้าทายทางเศรษฐกิจของประเทศสำคัญๆ รวมทั้งไทยที่สรุปได้ดังนี้
 

1. สหรัฐอเมริกา
ประธานาธิบดีโอบามาได้ลงนามผ่านกฎหมายลดภาษี 858,000 ล้านดอลลาร์ ทำให้นักวิเคราะห์ต่างปรับการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในปี 2011 ขึ้นไปที่ 3% แต่ความสำคัญอยู่ที่การเดิมพันว่ามาตรการดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐขยาย ตัวได้ดีและฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์ในปี 2013 หรือไม่ หากในช่วงนั้นพบว่าเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 4-5% ต่อปีก็น่าจะทำให้ประธานาธิบดีโอบามาชนะการเลือกตั้งทั่วไปได้เป็น ประธานาธิบดีอีกหนึ่งสมัย (4 ปี) และกล้าที่จะปรับขึ้นภาษีคนรวย พร้อมกับปรับลดรายจ่ายและเพิ่มรายรับด้านอื่นๆ ช่วยให้การขาดดุลงบประมาณของสหรัฐปรับลดลงต่อเนื่อง และเกิดความมั่นใจว่าสหรัฐมีวินัยทางการคลัง ดังนั้นแม้ว่านายเบอร์นันเก้จะต้องปรับดอกเบี้ยระยะสั้นขึ้นตามความ รุ่งเรืองของเศรษฐกิจและเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ แต่ดอกเบี้ยระยะยาว (ซึ่งขึ้นอยู่กับวินัยทางการคลังด้วย) ก็จะไม่สูงมาก ตอกย้ำว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีเสถียรภาพและความมั่นคงตามไปด้วย


แต่หากการลดภาษีครั้งนี้เป็นการเดิมพันที่ผิดพลาด สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือในปีหน้าการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐจะสูงถึง 10% ของจีดีพีติดต่อกันเป็นปีที่ 3 (ปี 2009 และ 2010 ก็ขาดดุลงบประมาณปีละ 10% ของจีดีพี) ดังนั้นหากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวในปี 2012 กล่าวคือนักเศรษฐศาสตร์มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวเพียง 2-3% ในปี 2012 และปีต่อๆ ไป เนื่องจากมาตรการลดภาษี 858,000 ล้านดอลลาร์นั้นส่วนใหญ่เป็นการกระตุ้นการบริโภคในปัจจุบัน แต่มิได้กระตุ้นการลงทุนการจ้างงานและการสร้างความสามารถในการแข่งขันใน อนาคต สิ่งที่จะตามมาคือการขาดดุลงบประมาณสูงมากต่อไปอีกเรื่อยๆ ในปี 2013 และปีต่อๆ ไปเพราะเป็นช่วงที่ค่าใช้จ่ายจากนโยบายประชานิยมต่างๆ (โดยเฉพาะการประกันสังคมและด้านสาธารณสุข) จะพอกพูนขึ้นอย่างมากจากข้อผูกพันเดิมตลอดจนการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุ ในขณะที่ผู้สูงอายุโดยรวมก็มีอายุยืนยาวขึ้น ในสภาวการณ์ดังกล่าว หากนักลงทุนมองว่ารัฐบาลสหรัฐจะต้องขาดดุลงบประมาณที่ 7-8% ต่อจีดีพีในอนาคตก็จะเกิดความระส่ำระสายอย่างมาก เพราะการขาดดุลในระดับสูง (หลังจากที่หนี้สาธารณะสูงเกิน 100% ของจีดีพีแล้ว) จะทำให้เกิดภาวะหนี้สินล้นพ้นตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับกรีกในปี 2010 จึงอาจเกิดขึ้นกับสหรัฐในปี 2013 ก็ได้


2. สหภาพยุโรป

แก่นสารของปัญหาของยุโรปคือ การเมืองในประเทศ (โดยเฉพาะประเทศเยอรมนี) จะยอมให้นำภาษีประชาชนในประเทศของตนไปกอบกู้เศรษฐกิจของประเทศยุโรปอื่นที่ มีปัญหา เพียงพอที่จะรักษาความเป็นปึกแผ่นของยุโรปและโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิทักษ์ รักษาเงินยูโรหรือไม่ เท่าที่เห็นในปัจจุบันก็ต้องบอกว่าตลาดยังขาดความมั่นใจอย่างมาก เพราะการตั้งกลไกเพื่อกอบกู้ประเทศที่มีปัญหาเพื่อพิทักษ์รักษาเงินยูโรนั้น ทำอย่างครึ่งๆ กลางๆ และผู้นำหลักของยุโรปยังขัดแย้งกันอย่างเห็นได้ชัด เช่น เห็นชอบการจัดตั้งกลไกถาวรเพื่อจัดการกับวิกฤติในอนาคตที่จะต้องมาถึงแน่ๆ เพราะการยืดหนี้กรีกและไอร์แลนด์ถึงปี 2013 นั้นเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่กลไกถาวร (เรียกว่า European Stability Mechanism) นั้นมีแต่หลักการยังไม่มีรายละเอียด นอกจากนั้นข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเช่นการเพิ่มเงินในกองทุนฉุกเฉิน การให้ใช้เงินฉุกเฉินอย่างยืดหยุ่นและทันท่วงที และการให้ออกพันธบัตรสหภาพยุโรปมาทดแทนพันธบัตรรายประเทศ ก็ถูกคัดค้านจนต้องพับแผนไปก่อนหน้า ทำให้นักวิเคราะห์มองว่าในช่วง 1-2 ปีข้างหน้าประเทศที่ได้รับการยืดหนี้ก็อาจมีปัญหาต้องพักชำระหนี้ไปก่อนที่ ESM จะออกมา ในขณะที่ปัญหาอาจจะลามไปสู่ประเทศโปรตุเกสและสเปน ทำให้เงินยูโรอาจอ่อนค่าลงอีกเมื่อเปรียบเทียบกับเงินดอลลาร์


3. ญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยและความนิยมของรัฐบาลปัจจุบันก็เสื่อมถอยลง เรื่อยๆ ทำให้การขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาเงินฝืดทำได้ด้วยความยาก ลำบาก การเสนอให้ลดภาษีนิติบุคคลเป็นเรื่องที่น่าจะเป็นประโยชน์ แต่การเพิ่มหนี้สาธารณะจากการขาดดุลที่เพิ่มขึ้นทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจ ญี่ปุ่นไม่แจ่มใสเลย เพราะหนี้สาธารณะสูงถึง 200% ของจีดีพีแล้ว ในขณะที่ประชาชนก็แก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว (เพราะญี่ปุ่นไม่ยอมให้ชาวต่างชาติที่มีอายุน้อยพร้อมทำงานและเสียภาษีเข้า มาตั้งรกรากในประเทศ เช่น สหรัฐที่เปิดรับแรงงานต่างชาติมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ) ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นนับวันจะมีบทบาทลดลง เว้นแต่บริษัทข้ามชาติของญี่ปุ่นที่จะต้องลงทุนนอกประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อ เนื่อง เพราะปัจจัยพื้นฐานภายในประเทศไม่เอื้ออำนวย ดังนั้นสภาวะที่ เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวเพียง 1-2% และภาวะเงินฝืดจึงอาจเป็นปัญหาเรื้อรังต่อไป


4. จีน

ประเทศจีนเผชิญปัญหาว่า จีดีพีขยายตัวดีน่าพอใจ (8-9% ต่อปี) แต่ยังคุมปัญหาเงินเฟ้อไม่ได้ ซึ่งคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อน่าจะคุมอยู่ภายในกลางปีหน้า ทำให้เงินเฟ้อในเดือน พ.ย. ที่ 5% นั้นใกล้ถึงจุดสูงสุดแล้วและจะค่อยๆ ลดลงในครึ่งหลังของปีหน้า ทำให้เงินเฟ้อทั้งปี 2011 อยู่ที่ประมาณ 4.5% แต่หากไม่เป็นเช่นนั้น (และเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจนคุมไม่อยู่) ก็คงเกิดจากการขยายตัวมากเกินไปของสินเชื่อ ทำให้ทางการต้องออกมาตรการที่เข้มข้นขึ้นไปอีกเพื่อจำกัดการขยายตัวของสิน เชื่อ รวมทั้งการควบคุมราคาสินค้าจำเป็น ซึ่งจะกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนอย่างมาก จึงเห็นภาพที่เศรษฐกิจจีนขยายตัวสูงที่สุดในโลกแต่ราคาหุ้นไม่สามารถปรับตัว ขึ้นได้เลย


ในระยะสั้นนั้นรัฐบาลจีนให้ความสำคัญสูงสุดกับการควบคุมค่าครองชีพและ ราคาอสังหาริมทรัพย์เพื่อมิให้ประชาชนเดือดร้อน แต่ในระยะกลางและระยะยาว จีนเร่งการลงทุน สร้างโรงงาน พัฒนาเทคโนโลยี และแสวงหาทรัพยากร เพื่อเตรียมพร้อมกับสภาวะที่ประเทศจีนจะขาดแคลนแรงงานใน 10-20 ปีข้างหน้า กล่าวคือประชาชนจีนจะต้องมีผลิตภาพ (productivity) ต่อหัวสูงจากการลงทุนสร้างโรงงาน (ให้มีงานทำ) การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนในเทคโนโลยี การลงทุนในการศึกษา ฯลฯ เพื่อส่งต่อความมั่งคั่งจากปัจจุบันไปสู่ลูกหลานที่มีจำนวนลดลงในอนาคต


5. ประเทศไทย

การเข้าสู่การเลือกตั้งทำให้ต้องมุ่งเน้นการรักษาอำนาจทางการเมืองโดยการ นำเสนอนโยบายเศรษฐกิจประชานิยม (จะเรียกอย่างอื่นก็ยังเป็นประชานิยมอยู่ดี) คือการกระจายผลประโยชน์เฉพาะหน้าให้กับคนส่วนใหญ่ที่เป็นผู้ลงคะแนนเสียง เลือกตั้ง การตรึงราคาน้ำมันดีเซลนั้นเคยมีประสบการณ์ในอดีตมาแล้วว่าทำให้ภาครัฐใช้ เงินหลายหมื่นล้านบาทหากราคาตลาดโลกสูงขึ้นอย่าต่อเนื่องก็จะทานเอาไว้ไม่ อยู่เพียงแต่ช่วยให้ประชาชนใช้น้ำมันราคาถูกเกินจริงไปพักหนึ่ง แทนที่จะนำเงินดังกล่าวไปลงทุนให้เกิดผลประโยชน์ระยะยาว กล่าวคือมาตรการต่างๆ ที่ถูกนำเสนอ (ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน) จะทำให้เกิดความพอใจในชั่วขณะแต่จะไม่ทำให้เศรษฐกิจไทยในอนาคตขยายตัวเร็ว ขึ้นหรือมีความมั่นคงขึ้น ทำให้เงินที่ใช้จ่ายออกไปจะเป็นภาระในอนาคต เนื่องจากปัจจุบันรัฐบาลขาดดุลงบประมาณเท่ากับ 3-4% ของจีดีพีและพบว่าจะไม่สามารถลดการขาดดุลดังกล่าวได้หากไม่ปรับขึ้นภาษี (จึงมีการนำเสนอขอขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นระยะๆ)


นโยบายประชานิยมนั้นหากรัฐบาลใดจะนำเสนอเพิ่มควรทำเมื่องบประมาณเกินดุล ได้เสียก่อนจึงจะถือได้ว่ามีเงินส่วนเกินมาใช้จ่าย สำหรับสิ่งที่ควรทำ (แม้จะเป็นเรื่องยาก) เพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวมจริงๆ มีอยู่มาก เช่น 1. ก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมใหม่มาทดแทนมาบตาพุด ซึ่งขยายตัวเต็มที่แล้วแต่ความต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศยังมีอยู่ 2. ผลิตแรงงานที่ตรงต่อความต้องการของตลาดไม่ใช่ตั้งเป้าว่าต้องมีหนึ่ง มหาวิทยาลัยต่อหนึ่งจังหวัด 3. สร้างระบบรางเพื่อขนส่งสินค้าอันจะลดต้นทุนการขนส่งและการพึ่งพาพลังงานนำ เข้า 4. ปฏิรูปภาคเกษตรกรรมโดยตั้งเป้าที่จะเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ไม่ใช่พยุงราคาสินค้าเกษตร 5. (ซึ่งรัฐบาลมีดำริอยู่แล้ว) คือการแก้กฎหมายร่วมลงทุนภาครัฐและเอกชน เพราะกฎหมายปัจจุบันสร้างปัญหาอย่างมาก เนื่องจากถูกนำไปตีความในทิศทางที่สร้างความเสียหายอย่างยิ่งต่อการลงทุน มิได้ชักจูงการร่วมลงทุนแต่อย่างใดครับ


The Gold War Phase II...by Jimmy Siri บน Facebook
http://www.facebook.com/home.php?sk=group_170408246326805&ap=1

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น